การเลือกซื้อเก้าอี้2
Mon, Oct 13, 2014
การเลือกซื้อเก้าอี้2

เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับเก้าอี้ จากคอลัมน์ smart buy  ของนิตยสารRoom

เก้าอี้ดี งานก็เดิน..........

นอกจากจะทำให้การงานเจริญก้าวหน้า เพราะสามารถนั่งได้นาน ๆ แล้ว คุณรู้อีกหรือเปล่าว่าการหาเก้าอี้ เก้าอี้ที่ดียังช่วยลดปัญหาเรื่องการปวดหลังปวดคอได้อีกด้วยดังนั้นเรามาเรียนรู้การเลือกหาเก้าอี้ทำงานดีๆ ไว้สักตัวกันดีกว่า

อย่ามองข้ามระบบกลไก  ปรับระดับขึ้น ลง..........

ถ้าคุณมีงบประมาณสักหน่อย และต้องการเก้าอี้ที่มีคุณภาพ  ควรเลือกดูแบบที่มีระบบแก๊ส สังเกตุง่ายๆ คือ เวลานั่งจะรู้สึกว่าเก้าอี้เด้งได้   กระบอกแก๊สที่ดีต้องสามารถรับการน้ำหนักได้พอดีกับตัวเรา  ถ้ามีความสามารถในการรับน้ำหนักได้มากก็จะไม่ยุบตัว  แต่ถ้าน้อยเกินไปก็จะยุบตัวและไม่เด้งกลับ  เก้าอี้ดีๆ บางรุ่นนั้นสามารถปรับระดับแก๊สมากหรือน้อยได้ตามต้องการ

แบบมีล้อหรือไม่มีล้อ เลือกอย่างไรให้เหมาะสม?

จะเลือกใช้แบบไหนก็ต้องกลับมาดูพฤติกรรมการทำงานของคุณก่อน  ถ้าเป็นคนที่ทำงานอยู่กับที่  ไม่เคลื่อนตัวไปไหนมากนัก  แบบไม่มีล้อและหมุนได้อย่างเดียวก็จะน่าพอแล้ว  แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบความคล่องตัวและมักขยับตัวไปโน่นมานี่อยู่บ่อยๆ ใช้แบบมีล้อจะเหมาะสมกว่า

นอกจากนี้ต้องเลือกล้อให้ดีๆ ด้วย โดยในปัจจุบันมีล้ออยู่ 3 ประเภท คือ

1.      ล้อที่ใช้กับพื้นไม้อย่างเดียว

2.      ล้อที่เหมาะใช้กัพื้นพรม

3.      ล้ออเนกประสงค์ที่ใช้ได้ทั้งพื้นไม้และพื้นพรม

 

แนะนำให้เลือกแบบที่ 3 จะเหมาะที่สุด เพราะเผื่อคุณอยากจะย้ายส่วนทำงานไปยังห้องต่างๆ ก็จะได้ไม่เป็นปัญหาภายหลัง

**(ลักษณะฐานเก้าอี้แบบไม่มีล้อจะมีปุ่มยางอยู่ที่ฐานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนเวลาลากเก้าอี้ไปมา  ส่วนแบบมีล้อนั้น  ในท้องตลาดโดยทั่วไปจะเป็นแบบอเนกประสงค์ โดยที่ตัวล้อจะมียางเคลือบอยู่ เพื่อไม่ให้พื้นเกิดรอยขีดข่วนเช่นกัน)

ก้าอี้ที่ดีมี พนักพิง อย่างไร?

            ถ้าแบ่งตามความสูงของพนักพิงจะมี 3 แบบ  คือ

            พนักพิงที่ต่ำกว่าไหล่ (Row Back)

            พนักพิงที่สูงเสมอไหล่ (Mid Back)

            พนักพิงที่สามารถรองรับคอได้ (Height Back)

ซึ่งจะเลือกแบบไหนก็แล้วแต่ความชอบและความหรูหรา อย่างถ้าเป็นองค์กรต่างๆ ก็จะเลือกตามตำแหน่งหน้าที่ของพนักงาน แต่สำหรับใช้ที่บ้าน เราก็เลือกตามรูปแบบดีไซน์ที่ถูกใจได้...ไม่มีปัญหา

เก้าอี้ดีๆ เวลานั่งแผ่นหลังต้องชิดกับพนักพิง โดยต้องรองรับแนวกระดูกสันหลังส่วนกลาง (Lumbar Support) เมื่อเราพิงพนักน้ำหนักตัวจะถูกถ่ายไปอยู่ที่พนัก  ไม่ใช่ที่ส่วนก้น ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเราไม่พิงพนักแล้ว พนักจะต้องยื่นมาด้านหน้าเล็กน้อย เพราะเวลานั่งทำงานตัวเราจะต้องโน้มมาด้านหน้า ซึ่งพนักจะช่วยรองรับแผ่นหลังของเราได้พอดี........

วัสดุ  ไส้ใน ของเบาะต่างกันอย่างไร

            เบาะที่เรานั่ง ภายในจะมีฟองน้ำหรือโฟมหลาย ๆ แบบ ตั้งแต่ราคาถูกมากๆ จนถึงราคาแพงลิ่ว เก้าอี้ที่ราคาถูกฟองน้ำจะเหมือนกับที่เราใช้ล้างจาน  คือมีรูพรุนขนาดใหญ่ ใช้ไปสักพักจะยุ่ยและหายไป ที่ระดับราคาปานกลางดีขึ้นมาหน่อย  จะเป็นโฟมที่มี

ความหนาแน่นสูง (High Density Foam หรือ  Molded Foam) คือมีความแข็งมากขึ้น ไม่ยุบตัวหรือเปื่อยยุ่ยง่าย  สำหรับโฟมที่ดีที่สุด เรียกว่า Memory Foam  มีคุณสมบัติเหมือนฟองน้ำที่ใช้ทำเตียงราคาแพง จะยุบตัวลงเมื่อรับน้ำหนักตัวเราและห่อหุ้มขาเพื่อป้องกันการกดทับของเส้นเลือดที่ขาจากการนั่งนาน ๆ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีอยู่เสมอ แต่ราคาอาจจะแพงกว่าแบบทั่วไปสักหน่อย

วัสดุหุ้ม มีอะไรบ้าง คุณสมบัติต่างกันอย่างไร

วัสดุหุ้มมีอยู่ 4 อย่าง คือ  ผ้า  หนังเทียม  หนังแท้  และเป็นตาข่าย (แบบไม่ต้องหุ้ม) คุณสมบัติของหนังแท้และหนังเทียมนั้นไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่หนังแท้จะให้ความสวยงามและคงทนกว่า  สำหรับความแตกต่างระหว่างผ้ากับหนังนั้น (ทั้งแท้และเทียม) หนังจะทำความสะอาดและดูแลรักษาได้ง่ายกว่าผ้า แต่เวลานั่งอาจจะรู้สึกร้อนและไม่สบายตัวเพราะระบายอากาศได้ไม่ดีเท่าผ้า แถมผ้าเองก็ยังเล่นลายและมีสีให้เลือกเยอะกว่า  ส่วนตาข่ายจะเน้นดีไซน์ที่เรียวบางดูทันสมัย และยังระบายอากาศได้ดีอีกด้วย

**TIP  ปัจจบันมีผ้าหลายเกรด ทั้งที่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ประเภท ซินเทติก (Synthetic) ซึ่งดูแลรักษาง่าย เพราะไม่ซับน้ำเหมือนเส้นใยธรรมชาติ แต่เวลาของหกใส่ต้องรีบซับเพื่อไม่ให้ซึมเข้าไปถึงชั้นโฟม  เพราะโฟมจะซึมน้ำไว้ทำให้เช็ดไม่ออก ถึงตอนนั้นแล้วจะใช้ผ้าหุ้มแบบไหนก็คงช่วยอะไรไม่ได้นะ

 

โครงสร้างเก้าอี้มีกี่แบบ?

            โครงสร้างเก้าอี้เป็นตัวบอกถึงความคงทน  น้ำหนัก  รวมไปถึงความสวยงาม  ทั่วไปมีอยู่ 3 แบบ  คือ

1. โครงสร้างไม้อัด โดยขึ้นรูปทั้งตัวแล้วกรุโฟมทับ มักจะเป็นรูปร่างพิเศษ ดีไซน์สวย

2. โครงสร้างพลาสติก  มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่ไม่คงทนเท่าแบบอื่นๆ

3. โครงเหล็ก  มีน้ำหนักมากที่สุด ทนทาน แต่อาจมีข้อจำกัดในการขึ้นรูปดีไซน์ยาก ๆ

            ตัวโครงของเก้าอี้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ๆที่ช่วยในการตัดสินใจซื้อ อาจต้องดูปัจจัยอื่นเสริมด้วย เช่น รูปแบบ  งบประมาณ  ความชอบ  และที่สำคัญตัวโครงที่ขึ้นรูปต้องทำให้นั่งสบายด้วย

 

เท้าแขน

            มีทั้งแบบ พลาสติก และแบบยาง โดยทั่วไปต้องมีขนาดใหญ่กว่าสองนิ้วครึ่งและสามารถปรับระดับได้ เพื่อให้เข้ากับระดับสรีระของแต่ละคน  ทั้งเลื่อนขึ้นลงและกางออกสำหรับคนตัวใหญ่  ส่วนนวมนิ่ม ๆ ตรงที่เท้าแขนก็ควรจะต้องยืดหยุ่นสักหน่อย  เพื่อไม่ให้กดทับเส้นเลือดเวลาวางมือตอนพิมพ์ดีด  แต่สำหรับคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานคอมพิวเตอร์มาก ๆ อาจไม่ต้องมีที่เท้าแขน หรือมีเท้าแขนแบบไม่มีที่ปรับระดับก็ได้

ก่อน ตัดสินใจ ซื้อ........

ขั้นที่ 1  ลองเลือกดูดีไซน์ที่คุณชอบ เปรียบเทียบงบประมาณกับราคา  สำหรับวัสดุไส้ในที่เราไม่สามารถมองเห็นได้นั้น  ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นง่ายๆ ว่า  ถ้าเก้าอี้ราคาถูกมากๆ โฟมข้างในก็น่าจะไม่ใช่โฟมที่มีความหนาแน่นสูง หรือ Memory Foam

ขั้นที่ 2  ทดลองนั่ง และปรับระดับต่าง ๆ ว่าเข้ากับสรีระของคุณหรือไม่  คือ หลังด้านล่างต้องชนกับพนัก  เท้าวางได้ราบเสมอกับพื้น  เท้าแขนวางแล้วมือเสมอกับข้อศอก

ขั้นที่ 3  สอบถามเรื่องวัสดุของเก้าอี้จากพนักงาน  เพื่อจะได้ทราบคุณสมบัติพื้นฐานของเก้าอี้ว่าดีและเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่

ขั้นที่ 4  ลองยกเก้าอี้  เก้าอี้ที่ดีควรจะต้องหนัก  เพราะเวลาพิงพนัก เราจะถ่าน้ำหนักหงายตัวไปด้านหลัง  เก้าอี้จึงต้องมีฐานล้อที่กว้างกว่าลำตัว  รวมถึงต้องแข็งแรงและหนักพอสมควร  จึงจะไม่ทำให้เราหงายหลัง  เก้าอี้ดี ๆ เราจะเอนได้จนเหมือนเกือบจะนอนได้  โดยที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ล้มหรือหงายหลัง

 


รุ่งเจริญเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ออฟฟิศ อุปกรณ์สำนักงาน โต๊ะทำงาน เก้าอี้ โซฟา ตู้เอกสาร ตู้เซฟ ชั้นวางของ

• เก้าอี้ / โซฟา

• ตู้ / ชั้นวางของ
แท็ก
Copyright © 2014 Rungcharoen.com All rights reserved.
504 ถ.รามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพ 10240 โทร. 02-732-1092 , 02-735-6819 แฟกส์ 02-732-1093